สาเหตุโรคกรดไหลย้อน และพฤติกรรมที่ควรเปลี่ยน

 

โรคกรดไหลย้อน เกิดจากสาเหตุอะไร

กรดไหลย้อน หรือ GERD (Gastroesophageal Reflux Disease) เกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิเช่น ความผิดปกติของหูรูดส่วนปลายของหลอดอาหาร ทำให้ความดันของหลอดอาหารต่ำลง หรือบ่อยกว่าปกติ ซึ่งเกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่  อาหารและยาบางชนิด ภาวะน้ำหนักเกิน ความเครียด หรือความผิดปกติในการบีบตัวของหลอดอาหารหรือกระเพาะอาหาร ทำให้เพิ่มโอกาสการไหลย้อนของกรดจากกระเพาะอาหารสู่หลอดอาหารมากขึ้น 

อาการที่เป็น..ใช่ “กรดไหลย้อน” หรือไม่? รู้ได้ด้วยวิธีนี้

  • การตรวจวัดการทำงานของกล้ามเนื้อหลอดอาหาร (Esophageal manometry)
  • การตรวจวัดการไหลย้อนของกรดที่หลอดอาหาร (Esophageal pH monitoring)
  • การส่องกล้องตรวจในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร (Gastroscopy)

“กรดไหลย้อน” รักษาได้นะ!

  • ปรับเปลี่ยนนิสัย และการดำเนินชีวิตประจำวัน (lifestyle modification) 
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรค 
  • การรักษาโดยการใช้ยา 
  • การผ่าตัด 

พฤติกรรมที่ควรเปลี่ยน...เพื่อรักษา “กรดไหลย้อน”

นิสัยส่วนตัว

  • อย่าให้เครียด และงดการสูบบุหรี่ 
  • หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับ หรือรัดแน่น โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว 
  • พยายามลดน้ำหนักถ้าน้ำหนักเกิน 
  • ถ้ามีอาการท้องผูก ควรรักษาและหลีกเลี่ยงการเบ่ง 

นิสัยในการรับประทานอาหาร

  • หลังรับประทานอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย, การยกของหนัก, การเอี้ยวหรือก้มตัวในทันที ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 ชม. 
  • รับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ หลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการทอด, อาหารมัน, อาหารย่อยยาก, พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ และอาหารฟาสต์ฟู้ด 
  • หลีกเลี่ยงอาหารจำพวกช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม peppermints เนย ไข่ นมหรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด  กาแฟ ชา น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง และเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ 
  • รับประทานอาหารปริมาณพอดีในแต่ละมื้อ ไม่ควรรับประทานอาหารจนอิ่มแน่นท้องมาก 

นิสัยการนอน

  • ไม่ควรนอนหลังการรับประทานอาหารทันที  หรืออย่างน้อยควรเว้นระยะห่าง 3 ชม. 
  • เวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้นประมาณ 6-10 นิ้วจากพื้นราบ 

ทานยารักษากรดไหลย้อนอย่างไร...ให้ถูกต้อง

ควรรับประทานยาสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรลดขนาดยาหรือหยุดยาเอง และมาพบแพทย์ตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง เพื่อปรับขนาดยา อย่าซื้อยารับประทานเองเวลาป่วย เนื่องจากยาบางชนิดจะทำให้กระเพาะอาหารมีการหลั่งกรดเพิ่มขึ้น หรือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวมากขึ้นประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยที่มีอาการของ GERD สามารถควบคุมอาการได้ด้วยยา

 

ข้อมูลโดย นพ. จีรวัส  ศิลาสุวรรณ  
อายุรแพทย์ระบบทางเดินอาหารและตับ
ศูนย์โรคกรดไหลย้อน 
โรงพยาบาลพญาไท 2 
โทร  02-617-2444 ต่อ 7401,7406

Visitors: 239,529